วันห้ามลอยอังคารคือวันไหน ต้องเตรียมอะไรบ้าง เปิดความเชื่อโบราณ
เคยสงสัยกันไหมว่าวันห้ามลอยอังคารมีจริงหรือไม่ แล้วการลอยอังคารคืออะไรกันแน่? วันนี้เราจะพาคุณมาไขข้อข้องใจ ซึ่งพิธีลอยอังคารหลายคนบอกไว้ว่าเป็นประเพณีสำคัญของไทยที่แสดงถึงความกตัญญูต่อผู้ล่วงลับ แต่หลายคนก็ยังสับสนอยู่ว่าควรลอยวันไหน และต้องเตรียมอะไรบ้าง มีวันไหนที่ห้ามลอยไหม ความเชื่อโบราณบอกอะไรกับเรา ความจริงเกี่ยวกับพิธีลอยอังคารเป็นยังไง เรามีคำตอบ
ลอยอังคาร คืออะไร
สำหรับการลอยอังคาร คือพิธีนำอัฐิหรือกระดูกของผู้เสียชีวิตไปลอยในแม่น้ำหรือทะเล เปรียบเสมือนการทำบุญครั้งสุดท้ายให้กับผู้ล่วงลับ คนไทยเชื่อกันว่าเป็นการปล่อยวิญญาณให้เป็นอิสระ ไม่ต้องห่วงหาอาลัยในโลกมนุษย์อีกต่อไป แถมยังเป็นการแสดงความกตัญญูและความรักต่อผู้ที่จากไปด้วย ซึ่งพิธีลอยอังคารกระดูกมักทำหลังจากเก็บอัฐิไว้ครบ 100 วัน หรือ 1 ปี แล้วแต่ความเชื่อของแต่ละครอบครัว
ความเชื่อในสังคมไทย พิธีลอยอังคาร
พิธีลอยอังคารกระดูกในสังคมไทยมีความเชื่อที่น่าสนใจมากมาย หลายคนเชื่อว่าการลอยอังคารจะช่วยให้วิญญาณของผู้ล่วงลับได้ไปสู่สุคติ หลุดพ้นจากความทุกข์ในโลกมนุษย์ หรือบางคนถึงกับเชื่อว่าถ้าไม่ลอยอังคาร วิญญาณอาจจะวนเวียนอยู่ในโลกนี้ ไม่ได้ไปเกิดใหม่
และยิ่งไปกว่านั้น ความเชื่อเรื่องการเลือกวันลอยอังคาร บางคนบอกว่าต้องดูฤกษ์ยามให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจจะไม่เป็นมงคลต่อผู้ล่วงลับ และบางคนก็เชื่อกันว่าในแต่ละสัปดาห์จะมีวันห้ามลอยอังคารอยู่ด้วย แต่จริงๆ ไม่มีใครรู้อย่างแน่ชัดว่าทำไมถึงต้องมีวันห้ามลอย ซึ่งอาจเป็นเพียงความเชื่อที่เชื่อต่อๆ กันมาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
วันห้ามลอยอังคาร มีวันไหนบ้าง
ความเชื่อของใครหลายๆ คน พิธีลอยอังคารไม่สามารถลอยได้ทุกวัน โดยวันห้ามลอยอังคาร จะมีวันไหนบ้าง คุณสามารถดูได้ดังนี้
- วันพระ : วันพระเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันที่พระสงฆ์ทำสังฆกรรม ควรเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนควรไปทำบุญที่วัด ฟังเทศน์ฟังธรรม ไม่ควรทำพิธีที่เกี่ยวกับความตาย เพราะอาจไม่เป็นมงคล
- วันโกน : วันโกนเป็นวันก่อนวันพระ คนสมัยก่อนมักจะใช้วันนี้เตรียมตัวเข้าวัดทำบุญในวันรุ่งขึ้น เลยเชื่อว่าไม่ควรทำพิธีลอยอังคารเหมือนกัน
- วันสำคัญทางศาสนา : วันวิสาขบูชา วันมาฆบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันเหล่านี้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา เชื่อกันว่าควรอยู่วัดทำบุญ ระลึกถึงพระพุทธเจ้าและคำสอนของท่าน ไม่ควรทำพิธีเกี่ยวกับความตาย
- ช่วงเทศกาลกินเจ : ในความเชื่อของคนไทยเชื้อสายจีน มักเชื่อกันว่าช่วงกินเจเป็นช่วงเวลาแห่งการถือศีล ชำระจิตใจให้บริสุทธิ์ ไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการตาย เลยไม่นิยมทำพิธีลอยอังคารในช่วงนี้
- วันหยุดนักขัตฤกษ์ : อาจเป็นเหตุผลทางสังคมมากกว่า เพราะวันหยุดเป็นวันที่คนส่วนใหญ่อยากพักผ่อน สังสรรค์กับครอบครัว ไม่อยากเจอเรื่องเศร้าๆ หรือพิธีกรรมไหนๆ
ความจริงเกี่ยวกับวันห้ามลอยอังคาร
ความจริงก็คือ ไม่มีกฎตายตัวว่าห้ามลอยอังคารวันไหน ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสะดวกและความเชื่อของแต่ละครอบครัว สิ่งที่สำคัญกว่าคือสภาพอากาศ ควรเลือกวันที่อากาศดี คลื่นลมสงบ จะได้ปลอดภัย แต่ถ้าจะลอยอังคารที่วัดหรือสถานที่ไหน ก็ควรโทรไปถามกับเจ้าหน้าที่ก่อน เผื่อเขาไม่สะดวก หรือหากมีการจองคิวล่วงหน้า จะได้ไม่เสียเที่ยว
ลอยอังคารต้องเตรียมอะไรบ้าง
สำหรับการลอยอังคารกระดูก สิ่งที่คุณต้องเตรียมจะมีอะไรบ้าง มาดูกัน
- อัฐิผู้ล่วงลับ
- ดอกไม้ 1 กำ
- ธูป 7 ดอก
- เทียน 1 เล่ม
- น้ำอบ
- ผ้าขาวห่อลุ้งอังคาร
- สายสิญจน์
- พานวางเครื่องไหว้
- กระทงดอกไม้ 7 สี
- เครื่องเซ่นไหว้ เช่น ผลไม้ ขนม
วิธีลอยอังคารกระดูกด้วยตัวเอง
วิธีการลอยอังคารกระดูกด้วยตัวเอง มีขั้นตอนดังนี้
- เตรียมอัฐิหรือเถ้าถ่านของผู้ล่วงลับใส่ผ้าขาวบาง กระดาษสา หรือกระบอกไม้ไผ่
- เตรียมดอกไม้ ธูป เทียน และเครื่องเซ่นไหว้ให้พร้อม
- เลือกสถานที่ลอยอังคาร อาทิ ทะเล แม่น้ำ ลำคลอง หรือในที่ที่มีความหมายต่อผู้ล่วงลับ
- กล่าวคำอำลาหรือสวดมนต์ตามความเชื่อที่สืบต่อกันมา
- โปรยอัฐิและเถ้าถ่านของผู้ล่วงลับลงในน้ำ
สรุป ทำไมถึงมีการกำหนดวันห้ามลอยอังคาร
ในสังคมไทย ที่มีการกำหนดวันห้ามลอยอังคารก็เพราะความเชื่อและประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน คนโบราณอยากให้พิธีนี้เป็นไปอย่างเรียบร้อยและเป็นมงคล เลยมีการบอกต่อๆ กันมาว่าวันไหนควรทำ วันไหนไม่ควรทำ แต่จริงๆ แล้วไม่มีกฎตายตัวขนาดนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำด้วยความตั้งใจดี คุณสามารถเลือกวันที่สะดวกสำหรับทุกคน แค่นี้ก็ถือว่าเป็นการแสดงความกตัญญูและความรักต่อผู้ล่วงลับได้อย่างสมบูรณ์แล้ว
ที่มา: เรือลอยอังคารปากอ่าว