ตรวจสอบ e-Ticket ใบสั่งออนไลน์ที่ค้างชำระด้วยตัวเอง
หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรระวังโดนใบสั่ง โดยผู้ขับขี่ทุกคนสามารถตรวจสอบว่าตัวเองโดนใบสั่งอะไรไปบ้าง หรือตรวจสอบใบสั่งค้างชําระออนไลน์ในรูปแบบ e-Ticket ใบสั่งออนไลน์ เพียงใช้หมายเลขบัตรประชาชนเท่านั้น พร้อมจ่ายค่าปรับด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเดินทางไปที่สถานีตำรวจ เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขับขี่ทุกคน มาดูขั้นตอนตรวจสอบใบสั่งค้างชำระออนไลน์ง่ายๆ ด้วยตัวเองกันเลยดีกว่าครับ
5 ขั้นตอนตรวจสอบใบสั่งค้างชำระออนไลน์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พัฒนาระบบตรวจสอบใบสั่งค้างชำระออนไลน์ที่ใช้งานง่าย สะดวก รวดเร็ว เพียงเข้าเว็บไซต์ และกรอกข้อมูลไม่กี่ขั้นตอน คุณก็สามารถตรวจสอบใบสั่งค้างชําระออนไลน์ในรูปแบบ e-Ticket ใบสั่งออนไลน์ย้อนหลังได้นานถึง 1 ปี พร้อมชำระค่าปรับได้ด้วยตัวเองผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนี้
- เข้าเว็บไซต์ e-Ticket ใบสั่งจราจรออนไลน์สำหรับประชาชน
- ลงทะเบียนผู้ใช้งานบนเว็บไซต์ โดยใช้หมายเลขบัตรประชาชน / หมายเลขใบขับขี่ หรือหมายเลขทะเบียนรถ
- เข้าสู่ระบบด้วยหมายเลขบัตรประชาชน และรหัสผ่านที่ตั้งไว้
- ค้นหาใบสั่งโดยระบุวันที่กระทำผิด จากนั้นกดปุ่ม ‘ค้นหา’ (สามารถกรองข้อมูลด้วยเลขทะเบียนรถ หรือหมายเลขใบสั่งได้)
- หน้าจอจะปรากฏรายการใบสั่งที่เคยได้รับ สามารถคลิกดูรายละเอียดของใบสั่งแต่ละฉบับได้ โดยจะระบุรายละเอียดที่สำคัญ เช่น สถานที่และเวลาเกิดเหตุ ข้อหาที่กระทำความผิด ค่าปรับและโทษปรับทางอาญา (หากมี)
(กรณีได้รับใบสั่งมากกว่า 1 คัน จะปรากฏรายการทั้งหมดภายใต้ชื่อผู้ครอบครองคนเดียวกัน)
จ่ายค่าปรับใบสั่งจราจรผ่านช่องทางใดได้บ้าง
ช่องทางจ่ายค่าปรับออนไลน์
- แอปพลิเคชัน Krungthai NEXT
ช่องทางจ่ายค่าปรับตามปกติ
- ตู้ ATM ธนาคารกรุงไทย หรือตู้บุญเติม (เลือกเมนูจ่ายบิลสินค้า)
- สาขาธนาคารกรุงไทย
- สาขาของไปรษณีย์ไทย
- สถานีตำรวจท้องที่ใกล้บ้าน
สามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) หมายเลขโทรศัพท์ 1197
ไม่จ่ายค่าปรับจราจร ระวังต่อภาษีรถไม่ได้
ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2566 เป็นต้นไป สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมการขนส่งทางบก ได้ประกาศมาตรการสำหรับผู้ที่มีใบสั่งจราจรค้างชำระ จะไม่สามารถต่อภาษีรถยนต์ตัวจริงได้จนกว่าจะชำระค่าปรับให้เรียบร้อย ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะไม่มีผลย้อนหลังกับใบสั่งค้างชำระก่อนวันที่ 1 เมษายน 2566 ซึ่งได้รับการนิรโทษกรรม ถือเป็นการเริ่มต้นนับใหม่สำหรับระบบการจัดการใบสั่งจราจร
ขับรถยังไงไม่ให้โดนใบสั่งในช่วงเวลาเร่งรีบ
ในช่วงเวลาเร่งรีบมักทำให้ผู้ขับขี่หลายคนลืมปฏิบัติตามกฎหมายจนทำให้โดนใบสั่งความเร็ว ซึ่งกฎหมายจราจรฉบับใหม่ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2565 หากขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จะโดนปรับไม่เกิน 4,000 บาท (จากโทษเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท) และหากขับรถฝ่าสัญญาณไฟจราจร จะโดนปรับไม่เกิน 4,000 บาท (จากโทษเดิมปรับไม่เกิน 1,000 บาท) โดยรถแต่ละประเภทสามารถใช้ความเร็วได้ไม่เกิน ดังนี้
ความเร็วรถบรรทุก (ระดับดิน) | |
รถบรรทุกที่มีน้ำหนักเกิน 2,200 กิโลกรัม ผู้โดยสารเกิน 15 คน | ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง |
รถบรรทุกผู้โดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน | ไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง |
รถโรงเรียน หรือรถรับส่งนักเรียน | ไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง |
ความเร็วรถยนต์ (ระดับดิน) | |
รถยนต์ 4 ล้อ | ไม่เกิน 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง |
รถจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ | ไม่เกิน 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง |
รถแทรกเตอร์ รถบดถนน รถที่ใช้ในการเกษตร | ไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง |
ขับรถเลนขวาสุดบนทางหลวง | ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง |
ความเร็วรถจักรยานยนต์ | |
รถจักรยานยนต์ | ไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง |
รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ซีซีขึ้นไป | ไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง |
สรุป การตรวจสอบใบสั่งค้างชำระออนไลน์
การตรวจสอบใบสั่งค้างชำระออนไลน์ผ่านเว็บไซต์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นอีกหนึ่งบริการภาครัฐที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน สามารถจัดการเรื่องใบสั่งจราจรได้ด้วยตนเองผ่านมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ที่บ้าน เพราะการขับขี่บนท้องถนนนอกจากเสี่ยงโดนใบสั่งแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งรีบ ดังนั้น อย่าลืมให้ความสำคัญกับการทำประกันรถมอเตอร์ไซค์ ประกันรถยนต์ ประกันรถบรรทุก และไม่ลืมต่อ พ.ร.บ. ทุกปีด้วยนะครับ เพื่อให้การใช้รถใช้ถนนเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอุ่นใจในทุกการเดินทาง
ที่มา: กองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน