ไฟผ่าหมาก ไฟกะพริบ ไฟฉุกเฉิน เปิดใช้ตอนไหนถึงจะไม่ผิดกฎหมาย?
กว่าจะได้ใบขับขี่รถยนต์มาต้องผ่านแบบทดสอบมากมาย ทั้งการฟังอบรมออนไลน์และการสอบภาคปฏิบัติ ประกันติดโล่จึงเชื่อว่าผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนคงพยายามทำตามกฎจราจรกันอย่างสุดความสามารถ เพราะไม่อยากให้เกิดอุบัติเหตุรถชนระหว่างขับรถ แต่บางครั้งก็ต้องยอมรับว่าเผลอทำผิดกฎจราจรแบบไม่ตั้งใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการใช้ไฟฉุกเฉินรถยนต์ คุณอาจสับสนว่าไฟฉุกเฉินรถยนต์ใช้ตอนไหน เปิดไฟฉุกเฉินตอนฝนตกได้ไหม ผิดกฎหมายหรือเปล่า ดังนั้น เพื่อไม่ต้องขับรถแหกกฎจราจร มาไขคำตอบเรื่อง “ไฟฉุกเฉินรถยนต์” กันเลย!
ไฟฉุกเฉินรถยนต์คืออะไร ต้องให้ช่างติดอะไหล่รถยนต์เพิ่มไหม?
ไฟฉุกเฉินรถยนต์ (Hazard Lights) หรือที่คนไทยเรียกว่าไฟผ่าหมากหรือไฟกะพริบ เป็นเครื่องมือสำคัญที่อยู่รถยนต์ตั้งแต่ออกมาจากโรงงาน ไม่ต้องให้ช่างมาติดตั้งเพิ่มเติมเลยครับ โดยคุณสามารถสังเกตไฟฉุกเฉินรถยนต์ได้ง่าย ๆ เพราะมีสัญลักษณ์เป็นสามเหลี่ยมสีแดงอยู่ตรงกลางระหว่างช่องแอร์ทั้งสองฝั่ง ซึ่งไฟฉุกเฉินรถยนต์จะเปิดใช้ก็ต่อเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น จะเปิดใช้งานแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้เด็ดขาด
เรื่องที่จำเป็นต้องรู้ของไฟผ่าหมากหรือไฟกะพริบก่อนใช้สัญญาณไฟฉุกเฉิน
เมื่อกดสัญลักษณ์ไฟฉุกเฉิน จะเกิดไฟกะพริบทั้งสี่มุมหน้าและหลังของรถยนต์ ซึ่งรถคันที่ขับตามหลังมาหรือขับนำหน้าก็จะสังเกตเห็นว่าคุณกำลังส่งสัญญาณอะไรบอกเขา แต่ด้วยความที่ไฟกะพริบจะปรากฎในตำแหน่งเดียวกันกับไฟเลี้ยวรถยนต์ อาจทำให้รถคันอื่น ๆ เข้าใจผิดได้จนสุดท้ายเกิดอุบัติเหตุรถชนในที่สุด ซึ่งไฟผ่าหมากใช้ตอนไหน แล้วจะผิดกฎหมายไหม สามารถอธิบายพอสังเขปได้ ดังนี้
ใช้ไฟฉุกเฉินรถยนต์ตอนไหน แล้วมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุรถชน
ไฟฉุกเฉินใช้ตอนฝนตกได้ไหม คำตอบคือ “ไม่ได้” แล้วกดใช้สัญญาณไฟตอนข้ามแยกได้หรือเปล่า คำตอบคือ “ไม่ได้” เช่นกันครับ เพราะการใช้ไฟฉุกเฉินรถยนต์ในสองเหตุการณ์นี้ จะสร้างความเข้าใจผิดอันใหญ่หลวงให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่น ๆ ได้ เช่น เกิดอุบัติเหตุรถชนเสาไฟฟ้า รถชนท้ายได้ในที่สุด เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ประกันติดโล่จะขออธิบายว่าทำไมถึงใช้ไฟฉุกเฉินตอนฝนตกไม่ได้ และใช้ไฟฉุกเฉินตอนข้ามแยกไม่ได้
ใช้ไฟฉุกเฉินตอนฝนตกได้ไหม เป็นอันตรายหรือเปล่า
ขับรถตอนฝนตกทำให้ถนนลื่นเรียกว่าอันตรายแล้ว ถ้าเปิดไฟฉุกเฉินตอนฝนตกก็จะทวีคูณความอันตรายเพิ่มขึ้นอีกระดับ เพราะเวลาฝนตกละอองฝนจะไปเกาะที่หน้ารถ แม้จะใช้ที่ปัดน้ำฝนทำความสะอาดแล้วก็ยังมีคราบหลงเหลืออยู่ดี นั่นแปลว่าวิสัยทัศน์การมองเห็นของคุณนั้นติดลบ
เมื่อคุณเปิดไฟฉุกเฉินรถยนต์ที่ไปกะพริบตำแหน่งเดียวกับไฟเลี้ยวอาจทำให้รถคันหลังที่ขับตามมาสับสนถึงแม้ข้อดีคือไฟผ่าหมากจะบอกตำแหน่งที่อยู่ของรถคุณ แต่ก็ทำให้รถคันหลังมึนงงได้เหมือนกัน ว่านั่นคือไฟฉุกเฉินรถยนต์หรือไฟเลี้ยว ส่งผลให้รถคันหลังคาดเดาทิศทางรถของคุณผิดพลาด ก่อให้เกิดรถชนท้ายได้
กดใช้สัญลักษณ์ไฟฉุกเฉินเพื่อให้ไฟผ่าหมากทำงานตอนข้ามแยกได้ไหม
อย่าใช้ไฟฉุกเฉินรถยนต์ตอนจะขับรถข้ามแยกดีกว่า เพราะไฟกะพริบหรือไฟผ่าหมากจากการกดสัญลักษณ์ไฟฉุกเฉินนั้น จะทำให้รถในเลนอื่น ๆ สับสนวิถีรถของคุณที่ต้องการจะไปได้ กลายเป็นว่า รถประสานงากัน เช่น รถชนท้าย รถเฉี่ยวกัน ยิ่งซวยเข้าไปใหญ่ถ้ารถคันนั้นไม่มีประกันรถยนต์คุ้มครอง
ที่บอกว่าจะสับสนคือรถที่อยู่ทางด้านขวาก็จะเห็นไฟผ่าหมากกะพริบแค่ด้านขวา เลยไม่ได้สังเกตว่าไฟฝั่งซ้ายกะพริบ รถฝั่งขวาก็เข้าใจว่าคุณจะเลี้ยวขวา เขาเลยเลี้ยวซ้ายในเส้นทางของตัวเอง สรุปว่าคาดเดาวิถีการเดินรถผิด ทำให้รถชนกันในที่สุด เอาเป็นว่าเสียเวลา เสียทรัพย์สิน และเสียอารมณ์ด้วยครับ
ไฟฉุกเฉินรถยนต์ควรใช้ตอนไหนถึงจะไม่ทำให้สับสน
ไฟฉุกเฉินรถยนต์ต้องเปิดใช้ตอนไหน คำตอบคือ “เมื่อมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน” ตามชื่ออุปกรณ์เลยครับ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่มีเหตุจำเป็นให้คุณต้องจอดรถข้างทางเพราะรถเสีย ก็สามารถกดสัญลักษณ์ไฟฉุกเฉินเพื่อให้ไฟผ่าหมากทำงานได้เลย ซึ่งไฟกะพริบนี้จะบอกให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่นรู้ว่ารถของคุณกำลังเจอเหตุฉุกเฉิน
เมื่อพวกเขาเห็นไฟกะพริบทำงาน ก็จะเข้าใจโดยตรงกันว่าคุณกำลังรอให้เจ้าหน้าที่ประกันรถยนต์มา จึงพยายามขับออกห่างจากจุดเกิดเหตุให้ได้มากที่สุด หรือชะลอความเร็วลง เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องเกิดเหตุการณ์ซ้ำสองขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกัน จนกลายเป็นอุบัติเหตุใหญ่โตมากขึ้นกว่าเดิมครับ
ไม่เปิดไฟฉุกเฉินรถยนต์ ผิดกฎหมายข้อไหน ค่าปรับเท่าไหร่?
อย่างที่บอกไปว่าถ้าเปิดไฟฉุกเฉินผิดสถานการณ์ หรือไม่เปิดใช้ไฟฉุกเฉินตอนที่ควรจะใช้ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุรถชนขึ้นได้แถมยังผิดกฎหมายอีกด้วย เรื่องนี้ประกันติดโล่ขออ้างอิงจากกฎหมายจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 11 และมาตรา 56 โดยระบุเนื้อความเอาไว้ ดังนี้
- กฎหมายในมาตรา 11 ระบุว่า ถ้าจอดรถอยู่ในที่ที่แสงสว่างไม่เพียงพอจะมองเห็นคนหรือรถ ผู้ขับขี่ต้องทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่น ๆ เห็นด้วยการเปิดสัญญาญไฟในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 500 บาท
- กฎหมายในมาตรา 59 ระบุว่า ถ้ารถเสียกลางทางต้องนำรถออกจากเส้นทางจราจร แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ ให้จอดรถไว้ข้างทางแต่ต้องเปิดไฟฉุกเฉินรถยนต์เพื่อให้ผู้ใช้รถใช้ถนนรับรู้ด้วยว่าคุณกำลังต้องการความช่วยเหลือ หากฝ่าฝืนมีโทษปรับ 1,000 บาท
แม้เงินค่าปรับ 1,500 บาท เนื่องจากฝ่าฝืนไม่เปิดไฟฉุกเฉินจะเป็นจำนวนเงินที่น้อย แต่ประกันติดโล่คิดว่าความเสียหายอาจจะไม่น้อยตามนั้นนะครับ เพราะถ้าคุณไม่เปิดไฟฉุกเฉินตอนรถเสีย แล้วรถคันตามหลังมามองไม่เห็น ก็จะมาชนท้ายรถคุณให้เกิดความเสียหายใหญ่โต จากตอนแรกที่แค่รถยางแตกแล้วรอให้ช่างมา กลายเป็นว่าต้องซ่อมรถทั้งคัน ถึงคุณจะมีประกันรถยนต์ชั้น 1 ที่ให้ความคุ้มครองครอบคลุม และเรื่องนี้คุณไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายก็ตาม แต่จะดีกว่าไหมครับถ้าเปิดไฟฉุกเฉินรถยนต์เอาไว้ จะได้ไม่ต้องเสียเวลากันทั้งคู่
สรุป
ไฟฉุกเฉินรถยนต์ควรเปิดในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินคือรถเสียเท่านั้นตามที่ระบุเอาไว้ใน พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 เพราะเป็นสัญญาณไฟกะพริบที่บ่งบอกให้ผู้ใช้รถใช้ถนนคันอื่น ๆ รู้ว่าคุณกำลังรอความช่วยเหลือ เพราะถ้าคุณไม่เปิดไฟฉุกเฉินอาจทำให้รถคันอื่น ๆ มองไม่เห็นว่ารถคุณจอดอยู่ กลายเป็นว่าสร้างอุบัติเหตุให้กระจายวงกว้างขึ้นไปอีก แม้จะมีประกันรถยนต์คุ้มครอง แต่ก็ไม่คุ้มที่จะมาเสียเวลาบนท้องถนนด้วยเรื่องแบบนี้จริง ๆ ครับ