อัปเดตข้อมูลตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) 2023 ครบจบในที่เดียว!
โรคมะเร็งยังคงเป็นโรคร้ายอันดับ 1 ของคนไทย แม้จะไม่ได้เป็นโรคติดต่อ แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คนไทย รวมถึงคนทั่วโลกเสียชีวิตมากที่สุด
ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งเผยว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยจะพบผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่มากกว่า 140,000 คน หรือประมาณ 400 คนต่อวัน โดยผู้ชายจะพบมะเร็งตับและท่อน้ำดีมากที่สุด ในขณะที่ผู้หญิงไทย มะเร็งเต้านม ยังคงเป็นภัยร้ายอันดับ 1 เสมอมา ไม่เคยเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งเป็นโรคที่สามารถรักษาหายได้ หากเราตรวจพบเซลล์มะเร็งตั้งแต่ระยะแรก และเข้ารับการรักษาตั้งแต่อย่างทันท่วงที โดยในบทความนี้ ประกันติดโล่ จะมาแนะนำวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่สามารถตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรกที่ไม่แสดงอาการ อย่างการ “ตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)” สาว ๆ ที่มีอายุมากกว่า 40 ขึ้นไปห้ามพลาดเลย!
เลือกอ่านหัวข้อที่สนใจได้เลย!
- ตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) คืออะไร?
- ตรวจแมมโมแกรมได้ที่ไหนบ้าง?
- ตรวจแมมโมแกรมควรเตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
- การดูแลตนเอง หลังตรวจแมมโมแกรม
- ตรวจแมมโมแกรม ราคาเท่าไหร่?
- ตรวจแมมโมแกรม VS ตรวจอัลตราซาวด์
- เตรียมพร้อมรับมือมะเร็งเต้านมด้วยประกันมะเร็งจากประกันติดโล่
- รวมคำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม
- สรุปเรื่องการตรวจแมมโมแกรม Mammogram
ตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) คืออะไร?
การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) คือ การเอกซเรย์เต้านมด้วยรังสีชนิดพิเศษคล้ายการเอกซเรย์ แต่ใช้ปริมาณรังสีที่ต่ำกว่า (Low-dose X-ray) และตรวจได้ละเอียดมากกว่า โดยเครื่องแมมโมแกรมได้รับการยอมรับจากคนทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพในการตรวจพบหินปูนในเต้านม ซึ่งหินปูนบางชนิดสามารถพบในมะเร็งเต้านมระยะเริ่มแรก และไม่สามารถตรวจพบได้จากการตรวจร่างกายทั่วไป
ขั้นตอนการตรวจแมมโมแกรม
ผู้ที่ต้องการตรวจแมมโมแกรม สามารถเข้ารับการตรวจได้เลย ไม่จำเป็นต้องงดน้ำงดอาหาร แต่ห้ามทาโลชั่น แป้งฝุ่น ยา และสเปรย์ระงับกลิ่นตัว บริเวณเต้านมและรักแร้ มีขั้นตอนการตรวจดังนี้
- นักรังสีการแพทย์ ใช้อุปกรณ์บีบเต้านมเข้าหากัน แล้วทำการถ่ายภาพเอกซเรย์เต้านมข้างละ 2 รูป และถ่ายจากด้านบนและด้านข้างรวมเป็น 4 รูป
- การตรวจแมมโมแกรมจะสามารถเห็นรายละเอียดของเนื้อเยื่อ ต่อมน้ำนม ไขมัน หินปูน และก้อนเนื้อขนาดเล็ก ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถพบความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะแรกเริ่มได้
- หากตรวจพบจุดที่สงสัย แพทย์อาจมีการถ่ายภาพเพิ่มเติมเพื่อความชัดเจน หรือส่งตรวจอัลตราซาวด์เต้านมต่อเพื่อดูว่าเนื้อเยื่อที่พบเป็นก้อนเนื้อ หรือถุงน้ำ
ตรวจแมมโมแกรมกี่วันรู้ผล?
การตรวจแมมโมแกรมจะสามารถบอกผลตรวจเบื้องต้นได้ทันทีว่า มีจุดที่น่าสงสัยอยู่หรือเปล่า ส่วนการอ่านผลตรวจโดยละเอียด ส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาประมาณ 1 – 2 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล
ข้อดีของการตรวจแมมโมแกรม
- ตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกที่ไม่มีอาการผิดปกติจนถึงระยะที่มีอาการ
- มีความถูกต้องแม่นยำสูง ภาพเอกซเรย์คมชัด สามารถแยกความแตกต่างของไขมันและเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของเต้านมได้อย่างชัดเจน
- ใช้ระบบบันทึกภาพแบบดิจิตอล แพทย์สามารถมองเห็นภาพบนจอคอมพิวเตอร์ได้เลย
- มีความปลอดภัยสูง เพราะใช้ปริมาณรังสีต่ำกว่าการเอกซเรย์ทั่วไป รังสีไม่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ ขณะตรวจ และไม่มีรังสีตกค้างในร่างกายหลังตรวจเสร็จ
- สะดวกรวดเร็ว ใช้ระยะเวลาการตรวจประมาณ 20 – 30 นาทีเท่านั้น
อายุเท่าไหร่ถึงจะสามารถตรวจแมมโมแกรมได้?
ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถเริ่มเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งด้วยเครื่องแมมโมแกรม เพื่อเฝ้าระวังโรคมะเร็งได้เลย
อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการตรวจเร็วกว่าปกติ หากคุณมีข้อบ่งชี้ต่อไปนี้
- คลำเจอก้อนเนื้อที่เต้านม เจ็บเต้านม มีเลือดออก หรือมีของเหลวออกจากหัวนม หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่เต้านม
- ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเนื้องอกในเต้านม
- มีประวัติฉายแสงบริเวณทรวงอกในช่วงอายุ 10 – 30 ปี
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคมะเร็งเต้านม แพทย์จะแนะนำให้ตรวจตั้งแต่อายุ 30 ปี
- มีประวัติตรวจพบยีนผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็น ตนเอง หรือคนในครอบครัว ได้แก่ ยีน BRCA1 และ BRCA2 แพทย์จะแนะนำให้ตรวจตั้งแต่อายุ 25 ปี
ใครที่ไม่สามารถตรวจตรวจแมมโมแกรมได้?
การตรวจแมมโมแกรมมีความปลอดภัยสูง มีผลข้างเคียงต่ำ แต่ไม่แนะนำให้ตรวจในคนเหล่านี้
- ผู้ที่ยังมีอายุน้อย เพราะเนื้อเต้านมจะยังหนาแน่นอยู่ อาจได้ผลลัพธ์ที่ไม่ชัดเจน
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะจะทำให้ทารกในครรภ์ได้รับรังสีโดยไม่จำเป็น
- ผู้ที่กำลังมีประจำเดือน เพราะเต้านมจะคัดตึงตามธรรมชาติ อาจทำให้เจ็บกว่าปกติได้
ตรวจแมมโมแกรม คืออะไร? ตรวจตอนอายุเท่าไหร่ ทำไมต้องตรวจ? ประกันติดโล่สรุปให้!
- ตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยรังสีปริมาณต่ำ มีความปลอดภัยสูง
- ข้อดีของการตรวจแมมโมแกรม สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มที่ยังไม่แสดงอาการอะไรเลย ช่วยให้สามารถรับมือกับโรคมะเร็งเต้านมได้อย่างทันท่วงที!
- ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถเริ่มเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมได้เลย
ตรวจแมมโมแกรมได้ที่ไหนบ้าง?
สามารถตรวจได้ตามสถานพยาบาลชั้นนำทั่วประเทศไทยเลย โดยส่วนใหญ่จะรวมอยู่ในแพ็กเกจตรวจสุขภาพผู้หญิง หรือตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมอยู่แล้ว
ตรวจแมมโมแกรม เตรียมตัวอย่างไรบ้าง?
- ควรสวมใส่เสื้อที่สามารถถอดออกได้ง่าย เพื่อให้สะดวกแก่การตรวจ
- ไม่สวมใส่เครื่องประดับ สร้อยคอ หรือต่างหู
- ห้ามทาโลชั่น แป้งฝุ่น ยา และสเปรย์ระงับกลิ่นกาย บริเวณเต้านมและรักแร้
- สามารถรับประทานอาหาร และดื่มน้ำได้ตามปกติ
- ในกรณีที่เคยตรวจแมมโมแกรมมาก่อน ให้นำผลตรวจเก่ามาให้แพทย์ดูด้วย
การดูแลตนเองหลังตรวจแมมโมแกรม
การตรวจแมมโมแกรมมีความปลอดภัยสูง ผู้เข้ารับการตรวจส่วนใหญ่จะไม่มีผลข้างเคียงอะไรเกิดขึ้น หลังจากตรวจเสร็จแล้วสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องพักฟื้นแต่อย่างใด
ตรวจแมมโมแกรม ราคาเท่าไหร่?
ค่าบริการตรวจแมมโมแกรมในโรงพยาบาลเอกชนจะมีราคาเริ่มต้นที่ 1,600 บาท ทั้งนี้ราคาอาจมีการแตกต่างกันไปในแต่ละโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับโปรโมชัน และจำนวนรายการตรวจอื่น ๆ ที่รวมอยู่ในแพ็กเกจตรวจสุขภาพด้วย
ตรวจแมมโมแกรมแตกต่างจากการตรวจอัลตราซาวด์อย่างไร?
การตรวจแมมโมแกรมจะเป็นการใช้รังสีปริมาณต่ำถ่ายภาพเต้านม สามารถตรวจรายละเอียดของเต้านมได้ดี ไม่ว่าจะ เนื้อเยื่อ ต่อมน้ำนม ไขมัน หินปูน หรือก้อนเนื้อขนาดเล็ก แต่จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่าก้อนเนื้อที่พบเป็นถุงน้ำปกติ หรือก้อนเนื้อ
ในขณะที่การตรวจอัลตราซาวด์จะเป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงส่งเข้าไปในเต้านม แล้วสะท้อนกลับมาแสดงเป็นภาพที่จอมอนิเตอร์ ซึ่งจะมีข้อดีตรงที่สามารถแยกได้ว่าสิ่งผิดปกติที่พบเป็นถุงน้ำ หรือก้อนเนื้อ แต่จะไม่สามารถตรวจหาหินปูนได้
การตรวจแมมโมแกรมและตรวจอัลตราซาวด์นั้น สามารถตรวจร่วมกันได้ หรือเลือกตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ โดยแพทย์จะพิจารณาจากอาการ ปัจจัยเสี่ยง และอายุของผู้เข้ารับการตรวจ
เตรียมพร้อมรับมือมะเร็งเต้านมด้วยประกันมะเร็งจากประกันติดโล่
นอกจากการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในทุก ๆ ปีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สาว ๆ ไม่ควรละเลยก็คือการซื้อประกันมะเร็งไว้เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากโรคมะเร็งเป็นโรคที่รักษาค่อนข้างยาก ต้องเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาที่สูง ถ้าหากไม่ทำประกันมะเร็งไว้ก็อาจจะรับมือกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่ไหว
ถ้าหากคุณไม่รู้จะทำประกันมะเร็งแบบไหนดี? เราขอแนะนำ ประกันโรคมะเร็งจากประกันติดโล่ ประกันมะเร็งเจอจ่ายจบที่พร้อมจ่ายเงินก้อนแรกให้ทันทีเมื่อตรวจพบมะเร็ง โดยที่ไม่ต้องตรวจสุขภาพ พร้อมจ่ายค่ารักษาต่อด้วยวงเงินคุ้มครองเกือบล้าน มีเบี้ยประกันเริ่มต้นเพียงวันละ 3 บาทเท่านั้น เราพร้อมช่วยคุณสร้างความมั่นคงทางสุขภาพได้ง่าย ๆ จ่ายค่าเบี้ยประกันได้สบาย ๆ ไม่สร้างภาระทางการเงินอย่างแน่นอน
รวมคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม
1. ตรวจแมมโมแกรมเบิกประกันสังคมได้ไหม?
เราสามารถใช้สิทธิประกันสังคม หรือสิทธิบัตรทองในการเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้ทุกปี โดยในเบื้องต้นจะเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีการคลำโดยแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข ส่วนจะตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ตรวจอัลตราซาวด์เต้านม หรือตรวจแมมโมแกรม หรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์
2. ตรวจแมมโมแกรมเจ็บไหม?
ในขั้นตอนการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม จะต้องกดเต้านมให้แนบกับเครื่อง เพื่อให้เนื้อเต้านมแผ่ออกมา ไม่บดบังสิ่งผิดปกติ (ถ้ามี) และลดปริมาณรังสีที่เต้านมจะได้รับ ซึ่งผู้เข้ารับการตรวจส่วนใหญ่จะรู้สึกอึดอัด หรือเจ็บเล็กน้อยเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ความเจ็บระหว่างตรวจแมมโมแกรมยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดเต้านม ความไวของเต้านมที่อาจเกี่ยวกับรอบประจำเดือน หรือความชำนาญของผู้ตรวจ แต่ไม่ต้องกังวลไป เพราะช่วงที่อาจก่อให้เกิดความเจ็บจะมีเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น
3. เป็นประจำเดือนสามารถตรวจแมมโมแกรมได้ไหม?
สามารถตรวจได้ แต่ในช่วงที่ใกล้มีประจำเดือน หรือกำลังมีประจำเดือน ผู้หญิงจะมีอาการคัดตึงเต้านมตามธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้เกิดการเจ็บเวลาตรวจได้ หากกลัวเจ็บ แนะนำให้ตรวจในช่วง 7 – 14 หลังมีประจำเดือนจะดีกว่า
4. ตรวจแมมโมแกรมได้รับรังสีมากไหม?
การตรวจแมมโมแกรมได้รับรังสีน้อยมาก โดยเทียบเท่ากับรังสีที่ได้เราได้รับในชีวิตประจำวัน (รังสีจากอากาศ น้ำ พื้นดิน แสงแดด หรืออาหารที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรังสี) ประมาณ 7 สัปดาห์ เมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับผลประโยชน์ที่ได้รับแล้ว การตรวจแมมโมแกรมมีข้อดีมากกว่าข้อเสีย
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานว่ารังสีจากการตรวจแมมโมแกรมทำให้เกิดอันตรายในระยะยาว ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถเข้ารับการตรวจอย่างสบายใจได้เลย
5. เราต้องตรวจแมมโมแกรมบ่อยแค่ไหน?
ความถี่ในการตรวจมะเร็งเต้านมจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของแต่ละบุคคล โดยสมาคมโรคมะเร็งแห่งสหรัฐอเมริกา (American Cancer Society) แนะนำให้ผู้หญิงเข้ารับการตรวจแมมโมแกรม ดังนี้
- อายุ 40 – 44 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมอย่างน้อย 1 ครั้ง
- อายุ 45 – 54 ปี ควรตรวจแมมโมแกรมปีละ 1 ครั้ง
- อายุ 55 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมทุก 1 – 2 ปี
ทั้งนี้ควรสอบถามแพทย์เพิ่มเติม เนื่องจากแต่ละคนจะมีข้อบ่งชี้ในการตรวจแมมโมแกรมต่างกัน
6. เสริมหน้าอกตรวจแมมโมแกรมได้ไหม?
หากเสริมหน้าอกมานานแล้ว แผลหายดีสนิท สามารถเข้ารับการตรวจได้ แต่จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการตรวจด้วย
สรุปเรื่องการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram)
การตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่มีประสิทธิภาพมาก สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มโดยที่ยังไม่แสดงอาการ ใช้ระยะเวลาการตรวจไม่นาน ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ และมีความปลอดภัยสูง ผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สามารถเริ่มเข้ารับการตรวจได้เลย เพื่อที่จะได้เฝ้าระวังโรคมะเร็งเต้านมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากโรคมะเร็งเต้านม
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลศิริราชย์ ปิยมหาราชการุณย์, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล