5 โรคที่มากับหน้าฝน พร้อมวิธีป้องกันได้อย่างทันท่วงที
นอกจากการขับรถหน้าฝนจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษแล้ว ยังต้องระวังเรื่องสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษด้วย เนื่องจากสภาพอากาศชื้นในช่วงหน้าฝน แสงแดดที่ลดลงทำให้วิตามินดีลดลงตามไปด้วย มักส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน จึงทำให้หลายคนป่วยหรือติดโรคที่มากับฝนได้ง่าย ๆ โรคที่มากับหน้าฝนที่มักพบอย่างเช่น โรคไข้หวัดใหญ่ หรือโรคไข้เลือดออก เป็นโรคตามฤดูกาลซึ่งพบได้บ่อยและหลายคนเป็นกังวล ประกันติดโล่จึงได้สรุป 5 โรคยอดฮิตที่มากับหน้าฝน จะมีโรคอะไรบ้างไปดูกันเลย
5 โรคที่มากับหน้าฝน มีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง?
หน้าฝนทำให้หลายคนต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านร่วมกันมากขึ้น จึงมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดการติดต่อของโรคได้ง่าย มาทำความเข้าใจสาเหตุ 5 โรคยอดฮิตที่มากับหน้าฝน พร้อมอาการของโรค เพื่อให้คุณได้สังเกตอาการเบื้องต้นและรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที
1. โรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza: Flu) หนึ่งในกลุ่มโรคที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจ (Respiratory Infections) มักพบบ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ A, B, C และ D ที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ โดยชนิด A และ B ทำให้เกิดการแพร่ระบาดตามฤดูกาล อีกทั้งยังเป็นโรคเด็กที่มากับหน้าฝน ผู้ปกครองจึงต้องมีวิธีดูแลป้องกันเป็นพิเศษ
อาการของโรคไข้หวัดใหญ่ :
- มีไข้
- ไอ
- เจ็บคอ
- น้ำมูกไหลหรือคัดจมูก
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหรือร่างกาย
- ปวดหัว
- รู้สึกเหนื่อยล้า
- อาเจียนและท้องเสีย (มักพบมากในเด็ก)
ป้องกันดูแลตัวเองด้วยการเน้นเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน นอนหลับให้เพียงพอและมีคุณภาพมีความสำคัญต่อการสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง การรักษาสุขอนามัยที่ดี หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย และให้ความสำคัญกับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ การฉีดวัคซีนประจำปีจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ หรือลดความรุนแรงของอาการหากติดเชื้อ
2. ไข้เลือดออก
ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสเดงกี (Dengue Virus) ติดต่อผ่านการกัดของยุงลายตัวเมียที่มีเชื้อไวรัสเดงกี จากนั้นจะปล่อยเชื้อไวรัสเดงกีจากต่อมน้ำลายของยุงเข้าสู่กระแสเลือดคน ยุงเหล่านี้มักเจริญเติบโตได้ทั่วไปในเขตร้อนชื้นและขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำนิ่ง
อาการของโรคไข้เลือดออก :
- ไข้สูง
- ปวดหัวอย่างรุนแรง
- ปวดหลังตา
- ปวดข้อและกล้ามเนื้อ
- รู้สึกเหนื่อยล้า
- เป็นผื่น
- เลือดออกเล็กน้อย (เช่น เลือดออกจมูกหรือเหงือก ฟกช้ำง่าย เป็นต้น)
ป้องกันดูแลตัวเองด้วยการใช้ยาทากันยุง สวมใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาวเพื่อป้องกันยุงกัด นอนกางมุ้งหรือในห้องที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นกำจัดยุงอย่างถูกต้อง และสิ่งสำคัญคือ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงโดยเฉพาะแหล่งน้ำนิ่งภายในบ้านหรือบริเวณบ้าน เนื่องจากยุงจะขยายพันธุ์ในน้ำนิ่ง ดังนั้นการกำจัดพื้นที่เหล่านี้จะช่วยลดปริมาณของยุงได้
ประกันติดโล่ขอเตือน! โรคไข้เลือดออกเป็นแล้วก็เป็นซ้ำได้
เนื่องจากโรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากไวรัสเดงกีซึ่งมี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 DENV-4 ผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใด จะมีภูมิคุ้มกันเฉพาะสายพันธุ์นั้นเท่านั้น จึงทำให้มีโอกาสเป็นแล้วก็สามารถเป็นซ้ำได้อีก และที่สำคัญการเป็นไข้เลือดออกในครั้งที่สอง มักมีอาการรุนแรงกว่าในครั้งแรกอีกด้วย
3. ไข้มาลาเรีย
ทั้งไข้มาลาเรียและไข้เลือดออกเป็นโรคที่มากับหน้าฝนซึ่งติดต่อผ่านการถูกยุงกัด แต่โรคไข้มาลาเรียจะเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวในกลุ่มพลาสโมเดียม (Plasmodium) ผ่านการกัดของยุงก้นปล่องตัวเมียที่ติดเชื้อไข้มาลาเรีย จากนั้นจะปล่อยเชื้อมาลาเรียจากต่อมน้ำลายของยุงเข้าสู่กระแสเลือดคน
อาการของโรคไข้มาลาเรีย :
- ไข้
- หนาวสั่น
- เหงื่อออก
- ปวดศีรษะ
- เจ็บกล้ามเนื้อ
- คลื่นไส้อาเจียน
- รู้สึกเหนื่อยล้า
- โรคโลหิตจาง
- ในกรณีรุนแรง อาจเกิดการทำงานล้มเหลวของอวัยวะ
การป้องกันดูแลตัวเองจะเหมือนกับโรคไข้เลือดออกคือ การใช้ยาทากันยุง สวมใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาวเพื่อป้องกันยุงกัด นอนกางมุ้งหรือในห้องที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์ฉีดพ่นกำจัดยุงอย่างถูกต้อง และสิ่งสำคัญคือ กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงโดยเฉพาะแหล่งน้ำนิ่งภายในบ้านหรือบริเวณบ้าน เนื่องจากยุงจะขยายพันธุ์ในน้ำนิ่ง ดังนั้นการกำจัดพื้นที่เหล่านี้จะช่วยลดปริมาณของยุงได้
4. ไวรัสตับอักเสบ เอ
ไวรัสตับอักเสบ เอ (Hepatitis A) เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสซึ่งเป็นสาเหตุของอาการตับอักเสบ มักเกิดจากการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อนี้ การอยู่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ ไปจนถึงการกินผลไม้หรือผักดิบที่ล้างด้วยน้ำที่ปนเปื้อน ซึ่งการปนเปื้อนอาจเกิดจากการที่มีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เอ สัมผัสหรือหยิบจับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบ เอ :
- มีไข้
- รู้สึกเหนื่อยล้า
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- ปวดท้องโดยเฉพาะบริเวณตับ
- ปัสสาวะสีเข้ม
- อุจจาระสีนวล ถ่ายเหลว
- ปวดข้อ
- ผิวหนังและดวงตามีสีเหลือง
การป้องกันดูแลตัวเองที่สำคัญคือ การรักษาสุขอนามัยที่ดี ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าห้องน้ำและก่อนหยิบจับอาหารทุกครั้ง เป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่ง เลือกกินอาหารปรุงสุกและดื่มน้ำที่สะอาด ในบางพื้นที่หรืออาชีพที่มีความเสี่ยงสูง อาจจำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ ร่วมด้วย
5. โรคฉี่หนู
โรคฉี่หนู (Leptospirosis) สามารถติดต่อได้ทั้งสัตว์และคนโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกลุ่มเลปโตสไปรา (Leptospira) ส่วนใหญ่จะติดต่อสู่คนผ่านทางน้ำ ดิน หรือโคลนที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อโดยเฉพาะ “หนู” แบคทีเรียสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก หรือแม้แต่ทางเยื่อบุในปาก ตา จมูก
อาการของโรคฉี่หนู :
- มีไข้สูง
- ปวดหัวอย่างรุนแรง
- เจ็บกล้ามเนื้อ
- หนาวสั่น
- ตาแดง
- อาการปวดท้อง
- ดีซ่าน (ผิวหนังและตาเหลือง)
- เป็นผื่น
- ท้องเสีย
- อาเจียน
- ในกรณีรุนแรง อาจนำไปสู่ภาวะไตวาย ตับวาย หายใจลำบาก หรืออาจเสียชีวิตได้
การป้องกันดูแลตัวเองควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับน้ำที่ปนเปื้อน แต่หากมีความจำเป็นที่จะต้องสัมผัสกับแหล่งน้ำที่มีความเสี่ยง แนะนำให้สวมรองเท้าบู๊ตและถุงมือกันน้ำก็จะช่วยลดการสัมผัสได้ หากมีบาดแผลก็ควรทำความสะอาดอย่างถูกต้องและป้องกันด้วยผ้าปิดแผลแบบกันน้ำ ในบางพื้นที่หรืออาชีพที่มีความเสี่ยงสูง อาจจำเป็นต้องมีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคฉี่หนูร่วมด้วย
สรุป โรคที่มากับหน้าฝน พร้อมวิธีป้องกัน
การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษาเสมอ ควรให้ความสำคัญกับการรักษาสุขอนามัยที่ดี เลือกกินอาหารและดื่มน้ำที่สะอาดเท่านั้น หากมีความกังวลใจหรือด้วยอาชีพของคุณมีความจำเป็นต้องไปยังพื้นที่เสี่ยงที่จะติดเชื้อโรคได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อทำการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่มากับหน้าฝนเหล่านั้น พร้อมมองหาประกันสุขภาพ หรือ ประกันมะเร็ง เพื่อดูแลคุณอีกทางหนึ่ง ให้คุณทำการรักษาได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายหรือค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น
ขอบคุณข้อมูลจาก: โรงพยาบาลศิริราช