เลือกทุนประกันรถยนต์เท่าไหร่ดี ให้ความคุ้มครองคุ้มค่า
สำหรับคนที่เพิ่งซื้อรถคันแรกอย่าลืมวางแผนเรื่องการทำประกันรถยนต์ด้วย เพื่อลดความเสี่ยงทางการเงินหากเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนขึ้น เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่ตามมาค่อนข้างสูง และเมื่อคุณตัดสินใจซื้อประกันรถยนต์ได้แล้ว จะมีขั้นตอนที่ต้องตกลงกับบริษัทประกันเรื่องจำนวนเงินเอาประกันภัยหรือทุนประกันรถยนต์ ซึ่งประกันภัยรถยนต์มีหลากหลายประเภท เงื่อนไขความคุ้มครองและทุนประกันย่อมแตกต่างกันไป มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับทุนประกันรถยนต์หมายถึงอะไร ต้องเลือกทำทุนประกันรถยนต์เท่าไหร่ดีถึงจะได้รับความคุ้มครองที่คุ้มค่ามากที่สุด
ทุนประกันรถยนต์คืออะไร?
จำนวนเงินเอาประกันภัยหรือทุนประกันรถยนต์ คือ จำนวนเงินสูงสุดที่บริษัทประกันภัยจะจ่ายให้กับผู้เอาประกันภัยหรือคนที่ทำประกัน กรณีเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์จนรถได้รับความเสียหายตามเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ได้ทำไว้ บริษัทประกันจะคืนเงินหรือจ่ายค่าซ่อมแซมที่จำเป็นตามจริง แต่จะไม่เกินจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ได้ตกลงกัน ซึ่งการพิจารณาเรื่องทุนประกันรถยนต์เท่าไหร่ดี เท่าไหร่คุ้ม ต้องให้ความสำคัญกับมูลค่ารถยนต์ของคุณเป็นหลัก เพื่อให้มั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองครอบคลุมกับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้
ทุนประกันรถยนต์กำหนดจากอะไรบ้าง?
- มูลค่าของรถยนต์
มูลค่าตลาดของรถยนต์เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักในการกำหนดทุนประกันรถยนต์ ยิ่งรถมีมูลค่าสูงทุนประกันก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งมูลค่าตลาดหมายถึง มูลค่าปัจจุบันของรถหรือราคาซื้อขายรถคันนั้นในท้องตลาด โดยบริษัทประกันภัยมักใช้แหล่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ในการประเมินราคารถยนต์ ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อเวลาผ่านไปเนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น ค่าเสื่อมราคารถ ความต้องการยี่ห้อและรุ่น และสภาพของรถ เป็นต้น
- อายุของรถยนต์
อายุรถเป็นหนึ่งสิ่งที่ใช้ในการประเมินมูลค่าของรถยนต์ด้วยเช่นกัน รถยนต์รุ่นใหม่หรือมีอายุการใช้งานน้อยจะมีมูลค่าตลาดสูงกว่า ในทางกลับกันรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานมากมูลค่าตลาดก็จะลดลง ดังนั้น อายุรถจึงเป็นหนึ่งสิ่งในการกำหนดทุนประกันรถยนต์ด้วยเช่นกัน
- ยี่ห้อและรุ่น
ยี่ห้อและรุ่นของรถยนต์มีความสำคัญในการกำหนดทุนประกัน เนื่องจากส่งผลต่อเรื่องต้นทุนในการซ่อมและชิ้นส่วนอะไหล่ต่าง ๆ เช่น รถหรูย่อมมีค่าซ่อมที่สูงกว่ารถทั่วไป หรือชิ้นส่วนอะไหล่ของรถบางรุ่นที่หายาก ย่อมส่งผลต่อจำนวนเงินเอาประกันภัยทั้งสิ้น
เนื่องจากราคารถยนต์ในตลาดมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย กรมการขนส่งทางบกจึงได้กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีปฏิบัติในการประเมินราคารถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยใช้บัญชีราคาประเมินรถเป็นเกณฑ์พิจารณาเป็นหลัก สามารถดูบัญชีราคาประเมินรถยนต์และรถจักรยานยนต์ พ.ศ.2564 เบื้องต้นได้ที่นี่เลยครับ
เลือกทุนประกันรถยนต์เท่าไหร่ดี?
เมื่อคุณตัดสินใจซื้อประกันรถยนต์ จะมีขั้นตอนตกลงทุนประกันกับบริษัทประกันโดยจะมีตารางมาให้เลือก ซึ่งการคำนวณทุนประกันรถยนต์ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประมาณ 80% ของมูลค่ารถยนต์ในขณะที่ซื้อประกัน การเลือกทุนประกันรถยนต์เท่าไหร่ดี ควรเลือกให้เท่ากับมูลค่าตลาดของรถยนต์ขณะทำประกัน ไม่ควรเลือกทุนประกันที่สูงกว่ามูลค่าจริง (Over Insured) เพราะในกรณีที่รถยนต์ได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง หรือที่เรียกว่า Total Loss ไม่สามารถซ่อมให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ หรือค่าซ่อมสูงเกิน 70% ของทุนประกัน บริษัทประกันจะชดใช้ให้เต็มจำนวนทุนประกันที่ได้ทำไว้เลย ดังนั้น การเลือกทุนประกันรถยนต์ที่มากเกินไปจึงไม่คุ้มค่า เพราะไม่ว่าอย่างไรบริษัทประกันจะชดใช้ให้ตามมูลค่ารถยนต์ในขณะที่ซื้อประกันเป็นหลักอยู่ดี
ตัวอย่างการคำนวณทุนประกัน
หากมูลค่าของรถยนต์ปัจจุบันอยู่ที่ 700,000 บาท กรณีเป็นรถปีแรกหรือรถป้ายแดง ทุนประกันที่ควรทำคือ 700,000 x 80% = 560,000 บาท
แล้วทุนประกันรถยนต์ลดลงปีละเท่าไหร่? ประกันติดโล่จะบอกให้
ปกติแล้วทุนประกันรถจะลดลงทุกปีตามค่าเสื่อมของตัวรถ โดยจะลดลงปีละ 10% หรือลดลงไปตามมูลค่าตลาดของรถยนต์คันนั้น โดยบริษัทประกันจะมีตารางที่แสดงรายละเอียดยี่ห้อ รุ่นรถ ราคา ว่ามีทุนประกันเท่าไหร่ ซึ่งทุนประกันที่ลดลงทุกปีนี้ ก็ส่งผลให้ค่าเบี้ยประกันลดลงตามไปด้วยนั่นเอง
สรุป การเลือกจำนวนทุนประกันรถยนต์
การเลือกจำนวนทุนประกันรถยนต์เท่าไหร่ดี เท่าไหร่คุ้ม จะต้องพิจารณาเรื่องความคุ้มครองและมูลค่าตลาดของรถยนต์คันนั้นเป็นหลัก ประกันติดโล่แนะนำให้เลือกทำทุนประกันที่เพียงพอกับมูลค่ารถยนต์ ซึ่งจะไม่ทำให้คุณต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันที่สูงเกินความจำเป็น ในทางกลับกันหากเลือกทำทุนประกันที่ต่ำเกินไป หมายความว่าคุณอาจจะต้องจ่ายค่าซ่อมแซมเองทั้งในส่วนของตัวเองและในส่วนของคู่กรณีด้วย ดังนั้น เมื่อตัดสินใจทำประกันรถยนต์และวางแผนเลือกจำนวนทุนประกันรถยนต์ที่เหมาะสมแล้ว คุณจะอุ่นใจมากยิ่งขึ้นหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ไม่ต้องกังวลใจว่าจะไม่มีเงินซ่อมรถ แถมยังไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพิ่มเติมอีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลจาก: วิริยะประกันภัย