ระบบเบรก ABS คืออะไร เพิ่มความปลอดภัยจริงไหม ทำไมทุกคนต้องมี
การขับรถบนท้องถนนในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการขับขี่ในที่ที่มีการจราจรหนาแน่น ความปลอดภัยจึงเป็นสิ่งที่คุณและผู้ขับขี่ทุกคนควรให้ความสำคัญ ซึ่งในตอนนี้ มีการนำเอาระบบเบรกมาตรฐานใหม่เข้ามาช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่อย่างระบบเบรก ABS (Anti-lock Braking System) แต่คุณรู้ไหมว่าระบบเบรกนี้มีการทำงานยังไง และเพราะอะไรจึงกลายเป็นระบบเบรกกลายเป็นมาตรฐานความปลอดภัยที่จำเป็นสำหรับรถยนต์ทุกคัน มาหาคำตอบไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า
ระบบเบรก ABS คืออะไร
ระบบเบรกเอบีเอส หรือ ABS ย่อมาจาก Anti-lock Braking System เป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องเบรกอย่างกะทันหัน ระบบนี้ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ล้อรถล็อกหรือหยุดหมุนในขณะที่เบรกอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้รถเสียการควบคุมและเกิดอุบัติเหตุได้
นอกจากนี้ ระบบเบรก ABS ยังช่วยลดระยะทางในการเบรกให้สั้นลงในสภาพถนนที่เปียกหรือลื่น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อันตรายที่สุดสำหรับการขับขี่ โดยระบบจะปรับแรงเบรกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นผิวถนน ทำให้รถสามารถหยุดได้ในระยะที่สั้นลงและปลอดภัยมากขึ้น
กลไกการทำงาน ABS System
กลไกการทำงานของระบบเบรก ABS จะเริ่มต้นด้วยการตรวจจับความเร็วในการหมุนของล้อ และส่งข้อมูลไปยังระบบควบคุม (ECU) ซึ่งจะประมวลผลและตรวจสอบว่ามีล้อใดที่กำลังจะล็อกหรือไม่ เมื่อ ECU ตรวจพบว่ามีล้อที่กำลังจะล็อก ระบบจะสั่งการให้วาล์วควบคุมทำการลดแรงดันน้ำมันเบรกที่ส่งไปยังล้อนั้นๆ ทำให้แรงเบรกลดลงชั่วขณะ และจะเพิ่มแรงดันกลับมาใหม่ทันทีที่ล้อเริ่มหมุนอีกครั้ง
กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก โดยทั่วไปแล้วระบบ ABS ที่สามารถปรับแรงเบรกได้ถึง 15-20 ครั้งต่อวินาที ทำให้ผู้ขับขี่รู้สึกถึงการสั่นสะเทือนที่แป้นเบรกขณะที่ระบบทำงาน ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าระบบ ABS กำลังทำงานอย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
จุดเด่นของระบบเบรก ABS
- ป้องกันการล็อกของล้อ : เบรก ABS ช่วยป้องกันไม่ให้ล้อล็อกเมื่อเบรกอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมทิศทางของรถได้แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน
- เพิ่มการควบคุมในขณะเบรก : ด้วยการป้องกันการล็อกของล้อ ผู้ขับขี่สามารถบังคับพวงมาลัยเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้แม้ในขณะที่กำลังเบรกอย่างรุนแรง
- ลดระยะทางในการหยุดรถ : โดยเฉพาะบนพื้นผิวที่เปียกหรือลื่น ABS ช่วยให้รถสามารถหยุดได้ในระยะทางที่สั้นลง
- ปรับตัวตามสภาพถนน : ระบบ ABS สามารถปรับการทำงานให้เหมาะสมกับสภาพพื้นผิวถนนที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นถนนแห้ง เปียก
- ลดการสึกหรอของยาง : การป้องกันการล็อกของล้อช่วยลดการสึกหรอของยางที่เกิดจากการเบรกอย่างรุนแรง
- ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ : ระบบเบรค ABS ช่วยลดโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุได้ ด้วยการเบรกที่ลดระยะในการหยุดรถ ทำให้โอกาสในการชนมีน้อยลง
จุดด้อยของระบบเบรก ABS
- อาจรู้สึกไม่คุ้นเคย : การสั่นสะเทือนที่แป้นเบรกเมื่อระบบ ABS ทำงานอาจทำให้ผู้ขับขี่ที่ไม่คุ้นเคยตกใจและปล่อยเท้าจากแป้นเบรก
- ค่าซ่อมบำรุงมีราคาสูง : ระบบเบรก ABS มีความซับซ้อนมากกว่าระบบเบรกธรรมดา ทำให้มีต้นทุนในการผลิตและซ่อมบำรุงที่สูงกว่า
- น้ำหนักรถเพิ่มขึ้น : อุปกรณ์ของระบบเพิ่มน้ำหนักให้กับรถ แม้จะเพียงเล็กน้อยแต่ก็อาจส่งผลต่อสมรรถนะและการประหยัดน้ำมัน
- อาจทำให้ผู้ขับขี่ประมาท : บางคนอาจรู้สึกมั่นใจมากเกินไปเมื่อรู้ว่ารถมีระบบเบรค ABS และขับขี่อย่างประมาท
ระบบเบรกเอบีเอส (ABS) เหมาะกับรถแบบไหน
- รถยนต์ส่วนบุคคล : ABS เป็นระบบมาตรฐานในรถยนต์ส่วนบุคคลรุ่นใหม่เกือบทุกรุ่น เนื่องจากช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการขับขี่ประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการจราจรที่หนาแน่น
- รถบรรทุกและรถขนส่งขนาดใหญ่ : สำหรับรถขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมาก เบรก ABS มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยป้องกันการเสียการควบคุมเมื่อต้องเบรกฉุกเฉิน ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงได้
- รถจักรยานยนต์ : แม้ว่า ABS system จะไม่ได้เป็นมาตรฐานในรถจักรยานยนต์ทุกรุ่น แต่ก็มีความสำคัญมากสำหรับความปลอดภัยของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะในสภาพถนนที่เปียกหรือลื่น
สรุป ABS ระบบเบรกที่ช่วยให้คุณขับขี่ได้อย่างปลอดภัย
ระบบเบรก ABS เป็นนวัตกรรมที่ปฏิวัติวงการความปลอดภัยในการขับขี่ ด้วยความสามารถในการป้องกันการล็อกของล้อขณะเบรกอย่างรุนแรง ระบบนี้ช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถควบคุมทิศทางของรถได้แม้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังช่วยลดระยะทางในการหยุดรถ โดยเฉพาะบนพื้นผิวที่เปียกหรือลื่น ทำให้ลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ดีมากๆ
แม้ว่าจะมีข้อจำกัดบางประการ เช่น ต้นทุนการผลิตและซ่อมบำรุงที่สูงขึ้น หรือความรู้สึกไม่คุ้นเคยสำหรับผู้ขับขี่บางคน แต่ประโยชน์ที่ได้รับนั้นมีมากกว่าข้อเสียอย่างชัดเจน นี่คือเหตุผลที่ ABS system ได้กลายเป็นมาตรฐานความปลอดภัยในยานยนต์สมัยใหม่เกือบทุกประเภท
ที่มา: Toyota Leasing Thailand