โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร ถ้าติดเชื้อจะอันตรายถึงชีวิตหรือเปล่า?
ถึงแม้ว่ากรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศอย่างเป็นทางการแล้วว่า “ประเทศไทยผ่านพ้นหน้าร้อนและเข้าสู้หน้าฝน” แต่ประกันติดโล่ก็ไม่อยากให้คุณวางใจเรื่องโรคพิษสุนัขบ้าเลยจริง ๆ เพราะโรคพิษสุนัขบ้านั้นอันตรายถึงชีวิตเลย ต่อให้รับเชื้อไวรัสมาในฤดูไหนก็น่ากลัว ดังนั้น เพื่อให้ทุกคนรู้ทันโรคพิษสุนัขบ้า มาดูกันว่าโรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร เป็นแล้วหายไหม ระยะฟักตัวในคนนานเท่าไหร่ มีกี่ระยะ แล้วมีวิธีป้องกันยังไงได้บ้าง
โรคพิษสุนัขบ้าคืออะไร เป็นแล้วรักษาหายไหม ป้องกันได้ยังไงบ้าง?
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า “เรบีส์ (Rabies)” โดยเชื้อไวรัสเรบีส์สามารถเข้าสู่ร่างกายของคนและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมผ่านการถูกกัดหรือสัมผัสน้ำลายตรงบริเวณที่มีบาดแผลของสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรค ความน่ากลัวก็คือเมื่อไวรัสเรบีส์เข้าสู่ร่างกายแล้วจะไปฝังตัวอยู่ในระบบประสาทอย่างสมองหรือเยื่อหุ้มสมอง ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสเรบีส์มีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก ประกันติดโล่ถึงได้บอกว่าโรคพิษสุนัขบ้าอันตรายสุด ๆ ต่อให้มีประกันอุบัติเหตุก็ไม่ควรวางใจว่าจะปลอดภัย ซึ่งนี่คือข้อมูลเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้าที่คุณควรรู้เอาไว้
โรคพิษสุนัขบ้าเกิดจากแมวได้ไหม หรือเกิดจากสัตว์ชนิดไหน?
ต่อให้ชื่อโรคเรียกว่า “โรคพิษสุนัขบ้า” แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดขึ้นแค่ในสุนัขเท่านั้น เพราะโรคพิษสุนัขบ้าสามารถเกิดขึ้นได้กับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหรือสัตว์เลือดอุ่นด้วย เช่น โรคพิษสุนัขบ้าในแมว ชะนี ลิง กระรอก กระแต หนู ค้างคาว ม้า วัว ควาย หรือหมู ซึ่งสัตว์แต่ละประเภทก็มีการแพร่เชื้อในกรณีที่แตกต่างกันออกไป แต่โดยมากแล้วคนส่วนใหญ่ก็จะติดเชื้อไวรัสเรบีส์จากสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขหรือแมวนั่นเอง
สัตว์ที่เป็นพาหะสามารถแพร่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าได้ด้วยวิธีไหนบ้าง?
สัตว์ที่เป็นพาหะโรคพิษสุนัขบ้า สามารถแพร่เชื้อไวรัสเรบีส์สู่คนหรือสัตว์อื่น ๆ ได้ด้วยกัน 2 วิธี คือ
- ไวรัสเรบีส์สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการถูกกัดหรือถูกน้ำลายของสัตว์ที่เป็นพาหะ ซึ่งการถูกน้ำลายจะสามารถติดเชื้อได้หากบริเวณนั้นมีแผลหรือรอยขีดข่วน หรือเข้าสู่ร่างกายผ่านเยื่อของร่างกาย เช่น เยื่อบุจมูก เยื่อบุตา
- ไวรัสเรบีส์สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านการหายใจ แต่ต้องหายใจในที่อับ อากาศไม่ถ่ายเท ซึ่งสัตว์ที่เป็นพาหะปล่อยเชื้อไวรัสเรบีส์ให้ลอยอยู่ในอากาศเป็นจำนวนมาก เช่น ค้างคาวในถ้ำ
โรคพิษสุนัขบ้าระยะฟักตัวในคนต้องนานเท่าไหร่ถึงจะออกอาการ
เมื่อร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเรบีส์แล้ว ก็จะเข้าสู่ระยะฟักตัวของเชื้อ ซึ่งผู้ป่วยจะแสดงอาการแบบเร็วสุด ๆ คือ 3 วันหรือช้าที่สุดคือ 3 เดือน แต่ในผู้ป่วยบางคนอาจกินเวลาไปหลายปีจึงค่อยออกอาการ ที่เป็นแบบนี้เพราะ
- ตำแหน่งที่ถูกกัดคือตำแหน่งใดของร่างกาย แผลลึกไหม แผลใหญ่หรือเปล่า
- มีจำนวนเชื้อไวรัสเรบีส์จำนวนเท่าไหร่ที่เข้าไปในร่างกาย
- คนที่ถูกกัดเป็นใคร อายุเท่าไหร่ มีผู้ภูมิต้านทานของโรคพิษสุนัขบ้าไหม
อาการของโรคพิษสุนัขบ้าในคนเป็นยังไงบ้าง มีกี่ระยะถึงจะเข้าขั้นเสียชีวิต?
เมื่อเชื้อไวรัสเรบีส์ฟักตัวในร่างกายของคนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลำดับต่อไปคือการแสดงอาการออกมา โดยส่วนใหญ่แล้วอาการของโรคพิษสุนัขบ้าจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ อาการสมองอักเสบ (เชื้อไวรัสเรบีส์อยู่ในสมอง) และอาการอัมพาต (เชื้อไวรัสเรบีส์อยู่ในไขสันหลัง) ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้าจะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ
- โรคพิษสุนัขบ้าระยะเริ่มต้น : ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าจะเริ่มเป็นไข้ตัวร้อน เจ็บคอ ปวดหัว ปวดตามเนื้อตัว ไม่อยากกินข้าว ร่างกายอ่อนเพลีย แล้วจะเริ่มคันและแสบ ๆ ร้อน ๆ หรือเสียวบริเวณแผลที่โดนกั
- โรคพิษสุนัขบ้าระยะที่มีอาการทางสมองและอัมพาต : ผู้ป่วยจะเริ่มกระสับกระส่าย อยู่นิ่ง ๆ ไม่ได้ เริ่มกลัวการกลืนน้ำลายของตัวเอง ไม่อยากกินน้ำ เลยส่งผลให้น้ำลายไหลทะลักออกมาทางปาก อีกทั้งยังทำให้กล้ามเนื้อในร่างกายไม่ทำงาน ส่งผลให้ร่างกายไม่ขยับแล้วจึงกลายเป็นอัมพาต
- โรคพิษสุนัขบ้าระยะสุดท้ายคือเสียชีวิต : ผู้ป่วยจะเข้าขั้นโคม่าเพราะไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่ติดเชื้อไวรัสเรบีส์ เลยมีสภาวะหัวใจล้มเหลวหรือหัวใจหยุดเต้น นั่นหมายความว่าผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
โรคพิษสุนัขบ้ารักษาหายไหม ถ้าโดนกัดต้องทำยังไงดี
ข้อมูลจากสำนักกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุเอาไว้ว่า โรคพิษสุนัขบ้าไม่มีทางรักษาหายได้เลย แต่มีวิธีป้องกันคือการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า และถึงแม้จะฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าไปแล้ว แต่ถ้าโดนกัดก็ใช่ว่าจะปล่อยเลยตามเลยได้ เพราะฉะนั้น ถ้าโดนกัดหรือข่วน ควรทำตามวิธีดังนี้
- ล้างแผลที่โดนกัดหรือข่วนให้เร็วที่สุดด้วยน้ำสบู่ ๆ ล้างนาน ๆ และหลาย ๆ ครั้ง ล้างให้ถึงต้นตอของแผล หลังจากนั้นรีบทำให้แผลแห้งและใส่ยาฆ่าเชื้อ เช่น เบตาดีน แอลกอฮอล์ เป็นต้น
- ถ้าสัตว์ที่กัดหรือข่วนมีเจ้าของก็รีบถามเจ้าของเลยว่าสัตว์เลี้ยงเคยมีประวัติการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไหม แล้วสังเกตอาการของสัตว์ 10 วันถ้าสัตว์ปกติดีก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าสัตว์ตายให้นำซากไปตรวจเพื่อหาเชื้อ เพราะสัตว์ที่เป็นพาหะอาจมีไวรัสเรบีส์อยู่ได้
- คุณที่โดนกัดหรือข่วนรีบไปพบแพทย์ทันที ถ้าวินิจฉัยจากข้อมูลต่าง ๆ เช่น ผลวิจัยสัตว์ที่ตายแล้ว อาการของคุณหลังจากถูกกัดหรือข่วน แล้วพบว่ามีความเสี่ยงสูง แพทย์จะทำการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าให้ ถึงแม้จะฉีดมาก่อนหน้าแล้ว หลังจากนั้น แพทย์ก็สังเกตอาการตามลำดับ
สรุป
โรคพิษสุนัขบ้ามีเชื้อไวรัสเรบีส์ที่จะมีผลต่อระบบประสาทอย่างสมองและเยื่อบุสมอง และการได้รับเชื้อจะมาจากการถูกกัด ถูกข่วน หรือน้ำลายของสัตว์ที่เป็นพาหะ ซึ่งโรคพิษสุนัขบ้าจะมีระยะฟักตัวไวสุดที่ 3 วันหรือนานที่สุดคือมากกว่า 1 ปีอยู่ที่ว่าผู้ป่วยเป็นใคร มีภูมิต้านทานหรือเปล่า โดยการป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ดังนั้น ต่อให้คุณมีประกันอุบัติเหตุหรือไม่มีประกันอุบัติเหตุ หากยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้ามาก่อน ก็ควรไปหาเวลาฉีดนะครับ ป้องกันเอาไว้เป็นเรื่องดีที่สุด!
ขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก, องค์การบริหารส่วนตำบาลท่าตะคร้อ