อุบัติเหตุจากการทำงานที่คนทำงานต้องรู้ และไม่ควรประมาท
อุบัติเหตุจากการทำงานเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อทั้งพนักงาน และองค์กรเอง ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเจ็บปวด และความทุกข์ทรมานแก่ผู้ประสบเหตุเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงาน ขวัญกำลังใจของพนักงาน และภาพลักษณ์ขององค์กรอีกด้วย ดังนั้น การทำความเข้าใจว่า อันตรายจากการทํางานมีอะไรบ้าง ช่วยให้คนทำงานทุกคนได้ระมัดระวังตัวอยู่เสมอ
อุบัติเหตุจากการทำงานคืออะไร
อุบัติเหตุจากการทำงาน คือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด หรือไม่ได้วางแผนไว้ล่วงหน้า ซึ่งเกิดขึ้นในระหว่างปฏิบัติงาน หรือเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บ เจ็บป่วย พิการ หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต รวมถึงความเสียหายต่อทรัพย์สินขององค์กร ซึ่งอุบัติเหตุเหล่านี้อาจเกิดขึ้นได้ในทุกสถานที่ที่ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงาน สำนักงาน ไซต์ก่อสร้าง หรือแม้แต่การทำงานนอกสถานที่
อันตรายจากการทํางานมีอะไรบ้างที่พบบ่อย
อุบัติเหตุจากการทำงานมีหลายรูปแบบ แต่ที่พบบ่อยมีดังนี้
- การบาดเจ็บจากการลื่นล้ม ตกจากที่สูง
เช่น เกิดจากพื้นลื่น พื้นขรุขระ หรือมีสิ่งกีดขวาง การทำงานบนที่สูงโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม การใช้บันได หรือนั่งร้านที่ไม่ได้มาตรฐาน
- อุบัติเหตุจากเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงาน
เช่น การถูกเครื่องจักรหนีบ ทับ หรือตัดอวัยวะ การใช้เครื่องมือที่ชำรุด หรือไม่เหมาะสมกับลักษณะของงาน
- การบาดเจ็บจากการยกของหนัก
เช่น การยกของในท่าทางที่ไม่ถูกต้อง การยกของที่มีน้ำหนักเกินกำลัง หรือการยกของซ้ำๆ เป็นเวลานานโดยไม่พัก
- อุบัติเหตุจากไฟฟ้า และสารเคมี
เช่น การสัมผัสกับสายไฟ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ปลอดภัย มีการรั่วไหลของสารเคมีอันตราย หรือมีการสูดดมไอระเหยของสารเคมีโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่ได้มาตรฐาน
สาเหตุหลักของอุบัติเหตุจากการทำงาน
H.W. Heinrich ได้ให้สาเหตุของอุบัติเหตุ มี 3 ประการ ได้แก่
- สาเหตุจากคน (Human causes) มีจำนวนถึง 88%
- สาเหตุจากความผิดพลาดของเครื่องจักร (Mechanical failure) มีจำนวนถึง 10%
- สาเหตุที่เกิดจากดวงชะตา (Act of god) มีเพียง 2%
โดยทั่วไปแล้ว อุบัติเหตุจากการทำงานมักเกิดจากสองปัจจัยหลัก ได้แก่ การปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย และสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ดังนี้
1. การปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Act)
การปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Act) คือ สาเหตุสำคัญของอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งมักเป็นการกระทำ หรือการปฏิบัติงานของคน มีผลทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับตนเองและผู้อื่น
- การละเลยกฎระเบียบ
พนักงานบางคนอาจมองข้าม หรือไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัยที่องค์กรกำหนดไว้ เช่น การไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ตามที่กำหนด หรือการฝ่าฝืนขั้นตอนการทำงานที่ปลอดภัย เพื่อประหยัดเวลา หรือความสะดวกส่วนตัว
- การใช้งานอุปกรณ์ไม่ถูกต้อง
การใช้เครื่องมือ หรืออุปกรณ์ผิดวิธี เช่น การใช้เครื่องมือผิดประเภทสำหรับงานนั้นๆ หรือการใช้เครื่องจักรโดยไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสม อาจนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงได้
- การขาดความรู้และทักษะ
พนักงานที่ไม่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเพียงพอ หรือขาดประสบการณ์ในการทำงาน อาจไม่ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และนำไปสู่การปฏิบัติงานที่ไม่ปลอดภัย
- ความประมาท
ขาดความระมัดระวังในการทำงานที่เพียงพอ เช่น การทำงานในขณะที่ร่างกายอ่อนเพลีย การไม่ตรวจสอบสภาพแวดล้อมก่อนเริ่มงาน หรือการทำงานด้วยความเร่งรีบเพื่อให้งานเสร็จเร็วขึ้น จนละเลยขั้นตอนความปลอดภัยไป
- การขาดสติ
สภาวะทางจิตใจที่ไม่พร้อมสำหรับการทำงาน เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล หรือการใช้สารเสพติด อาจทำให้พนักงานขาดสมาธิ และนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายยิ่งขึ้น
- การสื่อสารที่ผิดพลาด
การสื่อสารที่ไม่ชัดเจนในระหว่างปฏิบัติงาน หรือการเข้าใจผิดระหว่างเพื่อนร่วมงาน อาจนำไปสู่การทำงานที่ผิดพลาด และเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน
2. สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Condition)
สภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย (Unsafe Condition) คือ ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน ซึ่งมักเกิดจากสภาพของโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องจักร กระบวนการผลิต เครื่องยนต์ อุปกรณ์ในการผลิต ไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ
- สภาพแวดล้อมที่เป็นอันตราย
เช่น พื้นที่ทำงานที่ไม่เป็นระเบียบ มีสิ่งกีดขวางทางเดิน หรือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ วางไม่เป็นระเบียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ เสียงดังเกินมาตรฐาน หรือการระบายอากาศที่ไม่ดี ทำให้เกิดการสะสมของสารพิษ หรือฝุ่นละอองในปริมาณมาก
- อุปกรณ์ชำรุด หรือไม่ได้มาตรฐาน
เช่น เครื่องจักรที่ไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เครื่องมือชำรุด หรือดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาต อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่เสื่อมสภาพ หรือไม่เหมาะกับลักษณะงาน ระบบไฟฟ้าที่ไม่ปลอดภัย เช่น สายไฟเปลือย หรือปลั๊กไฟชำรุด
- การขาดระบบป้องกันที่เหมาะสม
เช่น ไม่มีการติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันอันตรายบนเครื่องจักร หรือสวิตช์ตัดไฟฉุกเฉิน ไม่มีระบบเตือนภัย หรือสัญญาณเตือนในพื้นที่อันตราย ขาดป้ายเตือน หรือสัญลักษณ์ความปลอดภัยที่ชัดเจน
- การจัดการพื้นที่ทำงานที่ไม่เหมาะสม
เช่น การวางผังพื้นที่ทำงานที่ไม่เอื้อต่อความปลอดภัย หรือการจัดเก็บวัสดุอันตรายที่ไม่ถูกต้องตามหลักความปลอดภัย
การแก้ปัญหาสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัยข้างต้น เป็นความรับผิดชอบหลักขององค์กร ซึ่งจำเป็นต้องมีการลงทุนทั้งในด้านเวลา และทรัพยากรอย่างเหมาะสม เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้มีความปลอดภัยสูงสุด นอกจากนี้ ยังต้องมีการตรวจสอบ และประเมินความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานในอนาคต
วิธีป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน
การป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรควรให้ความสำคัญ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายในองค์กร โดยมีวิธีการหลักๆ ดังนี้
- จัดให้มีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ
- จัดหาและกำกับดูแลการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ที่เหมาะสม
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในการทำงานให้ปลอดภัย เช่น แสงสว่าง การระบายอากาศ และการจัดวางอุปกรณ์
- ตรวจสอบ บำรุงรักษาเครื่องมือ และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
- สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยในองค์กร โดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงานในการระบุ และรายงานความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการทำงาน
สรุป ความสำคัญของการป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงาน
การป้องกันอุบัติเหตุจากการทำงานเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งองค์กร และพนักงานทุกคน การสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยที่เข้มแข็ง ควบคู่ไปกับการใช้มาตรการป้องกันที่เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยง และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยได้ นอกจากนี้ การวางแผนทำประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลที่ให้ความคุ้มครองทั้งตัวคุณเองและครอบครัว มีเงินชดเชยในระหว่างที่ประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถไปทำงานได้ ก็จะช่วยเพิ่มความอุ่นใจ และสร้างความมั่นคงให้กับการใช้ชีวิตได้มากยิ่งขึ้น
ที่มา: สสปท.