อ้วนลงพุงอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม เสี่ยงเป็นโรคอะไรได้บ้าง
พฤติกรรมการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นเวลา และไม่ออกกำลังกาย ทำให้คนไทยจำนวนมากต้องเผชิญกับปัญหาอ้วนลงพุง โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคอ้วน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงสาเหตุที่กลุ่มวัยทำงานส่วนใหญ่อ้วนลงพุงเนื่องจาก “กลุ่มวัยทำงานส่วนใหญ่ ใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานไม่น้อยกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และในภาวะเร่งรีบกลุ่มวัยทำงาน อาจเลือกกินอาหารจานด่วน ที่ไม่ถูกหลักทางโภชนาการ เนื่องจากต้องการอาหารที่ทำง่ายและรวดเร็ว รวมถึงมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ”
ที่มา: กรมอนามัย
ภาวะอ้วนลงพุงคืออะไร หากปล่อยให้อ้วนระวังเสี่ยงโรค
ภาวะอ้วนลงพุง (Abdominal obesity) คือ ภาวะที่ร่างกายมีไขมันสะสมบริเวณช่องท้องมากเกินไปโดยเฉพาะส่วนเอว มีน้ำหนักตัวมากจนเป็นโรคอ้วน อ้วนลงพุง หรือเมตาบอลิกซินโดรม ซึ่งไม่ได้หมายถึงการมีพุงยื่นออกมาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึมในร่างกายด้วย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด ไขมันที่สะสมในช่องท้องนี้ไม่ได้เป็นเพียงที่เก็บพลังงานส่วนเกินเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เหมือนอวัยวะหนึ่งที่สร้างสารก่อการอักเสบ ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรังทั่วร่างกาย และนำไปสู่การเกิดโรคต่างๆ ตามมาในอนาคต
โรคร้ายที่แฝงมากับภาวะอ้วนลงพุง
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 : ไขมันในช่องท้องที่มากเกินทำให้เซลล์ดื้อต่ออินซูลิน ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
- โรคความดันโลหิตสูง : ไขมันที่สะสมทำให้หลอดเลือดแข็งตัว ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
- ไขมันในเลือดสูง : มีการสะสมของไขมันไม่ดี (LDL) ในเส้นเลือด เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
- โรคหัวใจและหลอดเลือด : การอุดตันของหลอดเลือดจากไขมัน เสี่ยงต่อการเกิดหัวใจขาดเลือด
- ภาวะซึมเศร้า : ความไม่มั่นใจในรูปร่าง และผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต
แต่หากมีอาการต่อไปนี้ ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่คุณควรรีบไปพบแพทย์ เช่น เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน หายใจลำบาก เหงื่อออกมาก วิงเวียนศีรษะบ่อย มีอาการชาตามแขนขา หรือรู้สึกอ่อนเพลียผิดปกติ
วิธีเช็กเบื้องต้นว่าเข้าข่ายภาวะอ้วนลงพุง
การทำความเข้าใจถึงอันตรายพร้อมสังเกตอาการเบื้องต้นต่อไปนี้ จะช่วยให้คุณหาวิธีป้องกันไม่ให้ภาวะอ้วนลงพุงรุนแรงไปกว่าเดิม และกลับมาดูแลสุขภาพร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้อย่างทันท่วงที โดยวิธีเช็กเบื้องต้นด้วยตัวเองทำได้ ดังนี้
- รอบเอวเกินมาตรฐาน เป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนที่สุด สำหรับผู้ชายจะมีรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงจะมีรอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตร
- น้ำหนักเพิ่มขึ้นผิดปกติ การที่น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะในช่วง 6 เดือนถึง 1 ปี อาจเป็นสัญญาณของการสะสมไขมันที่ผิดปกติ
- ไขมันสะสมบริเวณหน้าท้อง โดยเฉพาะบริเวณรอบๆ อวัยวะภายใน เป็นอันตรายมากกว่าไขมันใต้ผิวหนัง สังเกตได้จากลักษณะพุงที่แข็งและกลม แทนที่จะนุ่มและหย่อนคล้อย
หากตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจร่างกายโดยแพทย์แล้วพบว่า เข้าข่าย 3 ใน 4 ข้อต่อไปนี้ จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจเพิ่มขึ้น 2 เท่า และผู้ที่เข้าข่ายทั้ง 4 ข้อ จะมีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 3 เท่า และโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 24 เท่า
- ความดันโลหิตตั้งแต่ 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป
- ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดมากกว่า 150 mg/dL
- ระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่า 100 mg/dL
- ระดับ HDL-Cholesterol ต่ำกว่าเกณฑ์ (ชาย < 40 mg/dL, หญิง < 50 mg/dL)
อาการทางสุขภาพอื่นๆ ที่เกิดจากภาวะอ้วนลงพุง
- เหนื่อยง่าย หายใจไม่สะดวก
- นอนกรนหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
- ลงพุงปวดหลัง ปวดเข่า จากการรับน้ำหนักมากเกินไป
- ผิวหนังบริเวณข้อพับต่างๆ คล้ำและหนาตัว
BMI ปกติควรอยู่ที่เท่าไหร่
BMI (Body Mass Index) หรือ ดัชนีมวลกาย เป็นเครื่องมือที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้ใช้ในการประเมินภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วน โดยคำนวณจากความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนัก และส่วนสูงของร่างกาย BMI จึงเป็นตัวชี้วัดมาตรฐานที่ใช้ประเมินว่าน้ำหนักของเราเหมาะสมกับส่วนสูงหรือไม่ มีสูตรคำนวณ ดังนี้
ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) ÷ ส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง |
เกณฑ์ BMI ที่เหมาะสมสำหรับคนไทย | |
น้อยกว่า 18.5 | น้ำหนักน้อยกว่าปกติ (ผอม) |
18.5 – 22.9 | น้ำหนักปกติ (สุขภาพดี) |
มากกว่า 23.0 – 24.9 | น้ำหนักเกินเกณฑ์ (ท้วม) |
มากกว่า 25.0 – 29.9 | อ้วน (อ้วนระดับ 1) |
มากกว่าหรือเท่ากับ 30.0 | อ้วนมาก (อ้วนระดับ 2) |
ตัวอย่าง ผู้หญิง น้ำหนัก 55 กิโลกรัม ส่วนสูง 165 เซนติเมตร (1.65 เมตร)
ดัชนีมวลกาย (BMI) = 55 ÷ (1.65 x 1.65) = 20.20
จากตัวอย่างผู้หญิงคนนี้มีค่า BMI ปกติ มีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ 18.5 – 22.9
อย่างไรก็ตาม การประเมินภาวะอ้วนลงพุงเบื้องต้นด้วยตัวเอง ควรใช้ทั้งค่า BMI และการวัดรอบเอวประกอบกัน เพราะแม้ค่า BMI จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากมีรอบเอวเกินมาตรฐาน (ผู้ชาย > 90 ซม., ผู้หญิง > 80 ซม.) ก็ถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้
อ้วนลงพุงลดยังไงดี?
การรักษาภาวะอ้วนลงพุงต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลายด้านไปพร้อมๆ กัน เริ่มจากการควบคุมอาหาร รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้ ลดอาหารไขมันและน้ำตาลสูง ควบคู่กับการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ (หรือ 150 นาทีต่อสัปดาห์) เพิ่มกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวัน เช่น เดินขึ้นบันได ทำงานบ้าน นอกจากนี้ ควรนอนหลับให้เพียงพอวันละ 7-8 ชั่วโมง ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ
สำหรับวัยทำงานควรจัดการความเครียดด้วยการฝึกสมาธิ หรือทำงานอดิเรกเพื่อให้รู้สึกผ่อนคลาย และที่สำคัญคือ ต้องลดหรืองดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้ต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสม่ำเสมอ จึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
สรุป อ้วนลงพุงรักษาได้ เพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การรักษาภาวะอ้วนลงพุงไม่ใช่การพยายามลดน้ำหนักอย่างหักโหม แต่เป็นการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตทั้งหมดให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย และการพักผ่อน โดยตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ และไม่กดดันตัวเองมากเกินไป อย่างไรก็ตาม แม้คุณจะดูแลสุขภาพดีแค่ไหน ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยก็ยังคงมีอยู่ การมีประกันสุขภาพที่ครอบคลุมจึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการวางแผนดูแลสุขภาพระยะยาว ช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าจะได้รับการรักษาที่ดีที่สุด โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ที่มา: โรงพยาบาลวิภาวดี