อาการแพ้กุ้งเป็นยังไง ถ้าแพ้รุนแรงอาจอันตรายถึงชีวิตได้
กุ้งเป็นอาหารทะเลที่หลายคนชอบกิน ร้านหมูกระทะก็มีกุ้งให้กินไม่อั้นได้อย่างที่ใจต้องการ แต่บางคนกินแล้วอาจมีอาการแพ้ เนื่องจากร่างกายตอบสนองต่อโปรตีนในกุ้งอย่างผิดปกติ ซึ่งระดับความรุนแรงของอาการแพ้ จะมีตั้งแต่ระดับเล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรงมากที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น การสังเกตอาการแพ้ของตัวเอง และเรียนรู้วิธีแก้อาการแพ้กุ้งเบื้องต้น จะช่วยลดความรุนแรงของอาการแพ้ได้
อาการแพ้กุ้งคืออะไร ใครเสี่ยงแพ้กุ้งบ้าง
อาการแพ้กุ้ง คือ การที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อโปรตีนบางชนิดในกุ้งอย่างผิดปกติ โดยระบบภูมิคุ้มกันจะมองว่าโปรตีนในกุ้งเป็นสิ่งแปลกปลอมและอันตราย จึงปล่อยสารฮีสตามีนออกมา ซึ่งสารนี้จะทำให้ร่างกายมีอาการแพ้ต่างๆ เกิดขึ้น จากโครงการวิจัยล่าสุด ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2553 เรื่อง “การศึกษาหาสารก่อภูมิแพ้ที่จำเพาะที่เป็นสาเหตุของการแพ้กุ้งน้ำจืด และกุ้งทะเลที่นิยมบริโภคในคนไทย” ชี้ให้เห็นว่า
- กุ้งน้ำจืดที่พบรายงานการแพ้มากที่สุดคือ กุ้งก้ามกราม ซึ่งมีสารก่อภูมิแพ้คือ โปรตีนฮีโมไซยานิน
- กุ้งทะเลที่พบรายงานการแพ้มากที่สุดคือ กุ้งกุลาดำ ซึ่งมีสารก่อภูมิแพ้คือ โปรตีนลิพิด บายดิง และโปรตีนแอลฟาแอกตินิน
แต่อาการแพ้อาจเกิดจากกุ้งเพียงชนิดเดียว หรือมากกว่าหนึ่งชนิดก็ได้ขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละคน โดยคนที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะแพ้กุ้งได้มากกว่าคนอื่น มีดังนี้
- พันธุกรรม: ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้ หรือแพ้อาหาร
- อายุ: แม้ว่าอาการแพ้กุ้งสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย แต่มักพบบ่อยในเด็กและวัยรุ่น
- การแพ้อาหารทะเลชนิดอื่น: ผู้ที่แพ้อาหารทะเลประเภทอื่น เช่น ปู หอย ก็มีโอกาสแพ้กุ้งสูงขึ้น
- โรคภูมิแพ้อื่นๆ: ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อื่นๆ เช่น โรคหอบหืด หรือผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง อาจมีความเสี่ยงสูงขึ้นเช่นกัน
ทำไมอยู่ดีๆ ก็แพ้กุ้ง? ประกันติดโล่สรุปให้
เมื่อก่อนก็กินได้ปกติ ทำไมอยู่ดีๆ ก็แพ้กุ้งตอนโต? สาเหตุอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของเชื้อแบคทีเรียในร่างกายคือ “ไมโครไบโอม” (Microbiome) หรือการเปลี่ยนแปลงของระบบภูมิคุ้มกัน เนื่องจากความเครียด การเจ็บป่วย หรือการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้
นอกจากนี้ ร่างกายบางคนอาจใช้เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโปรตีนในกุ้ง การกินกุ้งในปริมาณมากขึ้น หรือบ่อยครั้งขึ้น อาจกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันค่อยๆ เริ่มตอบสนองมากขึ้น จนถึงจุดที่แสดงอาการแพ้ออกมาในตอนโตได้
อาการแพ้กุ้งที่พบบ่อย
อาการแพ้กุ้งจะแสดงออกมาได้ตั้งแต่อาการแพ้เล็กน้อยไปจนถึงขั้นรุนแรง โดยทั่วไปอาการมักเกิดขึ้นภายในไม่กี่นาที หรือภายในสองชั่วโมงหลังจากกินกุ้ง ความรุนแรงของอาการแพ้กุ้ง 6 ระดับ มีดังนี้
- ระดับ 0: ไม่มีอาการแพ้ สามารถกินกุ้งได้ตามปกติ
- ระดับ 1: อาการเล็กน้อย เช่น อาการแพ้กุ้งคันคอ คันปาก
- ระดับ 2: อาการปานกลาง เช่น ผื่นลมพิษ ปวดท้อง คลื่นไส้
- ระดับ 3: อาการรุนแรง เช่น หายใจลำบาก บวมที่ลิ้น หรือลำคอ
- ระดับ 4: อาการรุนแรงมาก เช่น หายใจติดขัดรุนแรง ความดันโลหิตต่ำ
- ระดับ 5: ช็อกแอนาฟิแล็กซิส (Anaphylactic shock) อันตรายถึงชีวิต
เมื่อมีอาการแพ้ ร่างกายจะแสดงอาการออกมาทางผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารดังนี้
อาการทางผิวหนัง
ผื่นแพ้กุ้ง อาการแพ้ทางผิวหนัง เป็นสัญญาณเตือนในขั้นแรกว่าคุณอาจกำลังมีอาการแพ้ ถ้าสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ ควรหยุดกินกุ้งทันที และสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย
- ผื่นคัน: จะเกิดผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย มีอาการแพ้กุ้งคันตามตัวร่วมด้วย
- ลมพิษ: มีผื่นแพ้กุ้งนูนขึ้นมาเหนือผิวหนัง มีสีแดงหรือซีด และมีอาการคัน
- บวมแดง: อาจเกิดอาการแพ้กุ้งตาบวม บวมบริเวณริมฝีปาก ลิ้น หรือทั่วทั้งใบหน้า
อาการทางระบบทางเดินหายใจ
อาการทางระบบทางเดินหายใจอาจเริ่มจากเล็กน้อย แต่สามารถลุกลามเป็นอันตรายได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเริ่มมีอาการแพ้กุ้งคันคอ มีอาการไอ หายใจลำบาก ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน และสังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย
- จาม น้ำมูกไหล: คล้ายกับอาการหวัด แต่จะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วหลังกินกุ้ง
- หายใจลำบาก: รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจติดขัดมากขึ้น
- หอบหืด: อาจเกิดอาการหอบหืดกำเริบในผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอยู่แล้ว
อาการทางระบบทางเดินอาหาร
อาการทางระบบทางเดินอาหารอาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำได้ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ ควรดื่มน้ำมากๆ เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำ มักมีอาการดังนี้
- คลื่นไส้ อาเจียน: อาจเกิดขึ้นทันที หรือภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังกินกุ้ง
- ท้องเสีย: อุจจาระเหลว อาจมีอาการปวดท้องร่วมด้วย
- ปวดท้อง: อาการปวดบิดในท้อง อาจมีอาการรุนแรงในบางราย
อาการแพ้รุนแรง
อาการแพ้รุนแรงหรือ Anaphylaxis เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการรักษาทันที ถ้าสงสัยว่ากำลังเกิดอาการแพ้รุนแรง ให้โทรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉิน มักมีอาการดังนี้
- ความดันโลหิตต่ำ: รู้สึกวิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น
- หมดสติ: อาจเกิดภาวะช็อก และหมดสติได้
- หายใจไม่ออก: หลอดลมตีบตัวอย่างรุนแรง ทำให้หายใจไม่ออก
วิธีแก้อาการแพ้กุ้งเบื้องต้น
เมื่อสังเกตอาการต่างๆ ข้างต้นแล้วสงสัยว่า กำลังมีอาการแพ้กุ้ง ต้องรีบจัดการอย่างถูกวิธี และรวดเร็วที่สุด โดยวิธีแก้อาการแพ้กุ้งเบื้องต้น มีดังนี้
- ให้หยุดกินกุ้งทันที เมื่อสงสัยว่ามีอาการแพ้
- ใช้ยาแก้แพ้กุ้งประเภท Antihistamine เช่น Cetirizine ช่วยบรรเทาอาการแพ้เล็กน้อยถึงปานกลางได้ และควรกินเมื่อมีอาการเท่านั้น ไม่ควรกินยาแก้แพ้ดักอาการก่อนจะไปกินกุ้งเด็ดขาด!
- ประคบเย็นบริเวณที่มีอาการบวมหรือคัน จะช่วยบรรเทาอาการได้
- ดื่มน้ำมากๆ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการท้องเสียหรืออาเจียน เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- สังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง ให้รีบไปพบแพทย์
สรุป อาการแพ้กุ้ง อาการแพ้อาหารที่ไม่ควรมองข้าม
อาการแพ้กุ้ง เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม หรือพยายามฝืนกินเพื่อเอาชนะ ความเชื่อที่ว่าการฝืนกินจะช่วยให้หายแพ้นั้น เป็นความเข้าใจที่ผิด และอันตรายเป็นอย่างมาก เพราะอาจนำไปสู่อาการแพ้รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย การดูแลสุขภาพที่ดีคือการหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ และเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุฉุกเฉินต่างหาก นอกจากนี้ การทำประกันสุขภาพจะช่วยเพิ่มความอุ่นใจในยามเจ็บป่วย ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษา ให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น
ที่มา: โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 9 แอร์พอร์ต